วิหารลายคำ
พระพุทธอะตะปามหามุนีปฏิมากร
สถาปัตยกรรมลายคำ
รมณียวิปัสสนาสถาน แห่งล้านนา
พระพรหมมงคล วิ.
(หลวงปู่ทอง สิริมังคลมหาเถร)
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
องค์ฟื้นฟู และบูรณะวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)
พระภาวนาธรรมาภิรัช วิ. (สุพันธ์ อาจิณฺณสีโล)
เจ้าอาวาสวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
รองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่
การพัฒนาวัดให้เป็นรมณียวิปัสสนาสถาน และความเป็นสถาปัตยกรรมในรูปแบบพุทธศิลปกรรมของวิหารลายคำแบบล้านนา
วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) มีความสมบูรณ์มั่นคงในทางพระพุทธศาสนา อันเป็นแนวทางของหลักการสร้างวัดและการบริหารจัดการได้แก่ ด้านอาวาสสัปปายะ ด้านโคจรสัปปายะ ด้านภัสสสัปปายะ ด้านปุคคลสัปปายะ ด้านโภชนสัปปายะ ด้านอุตุสัปปายะ ด้านอิริยาปถสัปปายะ ถือว่าเป็นหลักการที่ก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาวัดให้มีความรื่นรมย์ เป็นสิ่งที่เหมาะสมกันเกื้อกูลกัน ส่งเสริมสนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ปฏิบัติพัฒนาตนเอง สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน เป็นพื้นที่ให้พุทธศาสนิกชน ได้มาเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้านกาย ด้านจิตใจ ด้านอารมณ์ และด้านปัญญา วัดในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสถาบันหลักของชุมชนที่ให้จัดการการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร และยังเป็นที่อบรมบ่มนิสัย ขัดเกลาฝึกฝนเหล่ากุลบุตรที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา โดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมตามระเบียบพระธรรมวินัยและระบบของวัดที่ได้จัดไว้อย่างมีแบบแผนแล้ว วัดยังเป็นที่พึ่งพิงอาศัยของมนุษย์ทุกหมู่เหล่าเมื่อได้รับการสั่งสอนและมีการขัดเกลาชี้นำอยู่เสมอจนเกิดการเรียนรู้ซึมซาบเข้าสู่จิตรู้ว่าสิ่งใดเป็นคุณและเป็นโทษ ย่อมนำไปสู่การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมที่ดีในอนาคตได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดี มีคุณภาพจิตที่งดงาม โดยใช้หลักคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลักในการตกแต่งและพัฒนานั่นเองฯ
พระพรหมมงคล วิ.
นับว่าเราทั้งหลายได้สนองพระราชดำริของพระเจ้ายอดเชียงราย พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ พระนางอะตะปาเทวีคงจะโสมนัสยิ่งนัก มีพระราชศรัทธาโสมนัสต่อพวกเราที่สนองงานวัดที่พระองค์ได้ทรงสร้างวัดขึ้นมา
พระภาวนาธรรมาภิรัช วิ.
(สุพันธ์ อาจิณฺณสีโล)
แรงบันดาลใจที่สร้างสรรค์งานวิจิตรศิลป์ โดยการใช้ไม้นั้น ในทัศนะข้าพเจ้า งานไม้ยิ่งเก่ายิ่งเพิ่มมูลค่าทั้งทางงานศิลปกรรมและมูลค่าในตัวมันเอง รวมถึงเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์งานช่างศิลป์สู่ยุคใหม่และสิ่งนี้ก็จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู่ต่อไปในอนาคต
พระปลัดพิเชษฐ์ ญาณวโร
รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทำงานรับใช้พระศาสนาวัดวาอารามอันเป็นที่เกิดและครูบาอาจารย์ที่เคารพยิ่ง อีกประการหนึ่งอาจจะด้วยความผูกพันและสำนึกในคุณของวิหารหลังนี้ ตามคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่พระพรหมมงคล วิ.องค์อุปัชฌาย์ ที่ว่า “รู้คุณของสิ่งมีคุณ”
วิหารหลังเดิม
วิหารหลังเดิมกว้าง 7.5 เมตร ยาว 21 เมตร เป็นวิหารปิด ทรงล้านนาแบบโบราณ ที่สร้างโดยฝีมือชาวบ้านคนท้องถิ่น และพระที่มีฝีมือเป็นสล่าใหญ่ (ช่างใหญ่) โดยการสร้างแบบเรียบ ไม่มีลวดลายรดน้ำ ประดิษฐานด้านหน้าพระธาตุเจดีย์ ภายในมีพระประธานพระพุทธอะตะปา มหามุนีปฏิมากร หรือหลวงพ่อตะโปประดิษฐานอยู่
วิหารหลังปัจจุบัน
“วิหารลายคำพระพุทธอะตะปามหามุนีปฏิมากร” วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)
บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ พ.ศ. 2558 โดยปรารภถึงวัดที่ได้เสนอ ยกจากวัดราษฎร์ขึ้นเป็น พระอารามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 84 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องจากวิหารหลังเดิมคับแคบไม่เพียงพอต่อการใช้ทำกิจกรรมวันพระและกิจกรรมอื่น ๆ จึงขยายพื้นที่จากเดิมกว้าง 7.5 เมตร ออกข้างละ ๑.๓๙ เมตร เป็นพื้นที่ขนาด กว้าง ๑๒.๖๗ เมตร ยาว 21 เมตร ปรับปรุงเป็นอาคารสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างวัสดุหลังคา ช่อฟ้า ใบระกา พื้นช่องประตูหน้าต่าง และยกฐานพระประธาน ด้านข้างวิหารสร้างศาลาบาตร ทั้ง 2 ข้าง เพื่อมีพื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้น โดยสร้างด้วยไม้สักทอง และพร้อมกันนี้ได้สร้างศาลาบาตรล้อมรอบพระธาตุเจดีย์เพื่อใช้เป็นพื้นที่เดินจงกรม บำเพ็ญสมาธิภาวนา วิปัสสนาภาวนา และกิจกรรมอื่น ๆ
-
บูรณะปฏิสังขรณ์
พ.ศ. 2558 เริ่มดำเนินงานรื้อถอนโครงสร้างวิหารหลังเก่า บูรณปฏิสังขรณ์วิหารโดยรักษาโครงสร้างเดิมไว้ส่วนหนึ่ง และขยายพื้นที่ของพระวิหารออกด้านข้าง ด้านละ 1.39 เมตร และความยาวเท่าเดิม รวมเป็นขนาด กว้าง 12.67 เมตร ยาว 21 เมตร
โดยลดหลังคามาอีก 1 ระดับ
-
ขนาดของวิหารเดิม
ขนาดเดิมกว้าง 8.5 เมตร ยาว 21 เมตร ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระธาตุเจดีย์ วิหาร เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม้ย่อมุม มีการยกเก็จของผนัง ส่วนซ้อนชั้นของหลังคามีความเรียบง่าย องค์ประกอบปรับตกแต่งที่สำคัญประกอบด้วย ช่อฟ้า (หรือสัตบริภัณฑ์ หรือปราสาท) แขนนาง รังผึ้ง และเอวขันธ์ มีทางเข้าออก 3 ทาง ด้านหน้า 1 ทาง และด้านหลัง 2 ทาง ภายในวิหารแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ พื้นที่ของพระสงฆ์ ได้แก่ อาสน์สงฆ์ (ที่นั่งพระภิกษุสามเณร) ทำเป็นแท่นยกพื้นอยู่ทางด้านขวามือของพระประธาน และพื้นตรงกลางที่สำหรับคฤหัสถ์ทำกิจทางศาสนา
-
โครงสร้างวิหาร
เป็นโครงสร้างไม้ ระบบเสาและคาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวิหารล้านนา ที่เรียกว่า “โครงสร้างแบบม้าต่างไหม” หลังคาเป็นจั่วมีซ้อนชั้นของหลังคาด้านหน้าสามชั้น ด้านหลังสองขั้น สัมพันธ์กับการยกเก็จของผนัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องแป้นเกล็ด
-
พิธียกปราสาทเฟื้องฐานฉัตรขึ้นประดิษฐานบนหลังคาวิหาร
-
วันที่ 30 มีนาคม 2559
-
ย้ายศิลาจารึก ที่จารึกอักษรฝักขามไว้ ไปประดิษฐานที่หลัวิหาร วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) 12 กุมภาพันธ์ 2559
-
พิธียกยอดยกฉัตรทองขึ้นยอดปราสาทเฟื้อง พระพรหมมงคล วิ. ประธานในพิธี 23 มกราคม 2562
พระพรหมมงคล วิ. (หลวงปู่ทอง สิริมงฺคโล)
ประธานยกฉัตรปราสาทเฟื้องขึ้น
ประดิษฐานบนหลังคาวิหาร ในวิหารวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)
วันครบรอบวัด 527 ปี วันที่ 23 มกราคม 2562
พิธียกยอดยกฉัตรทองขึ้นยอดปราสาทเฟื้อง
ย่างก้าวเข้าสู่วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)
วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ด้านซ้ายมือจะมองเห็นพระวิหาร เด่นสง่างามตั้งยกระดับสูงขึ้นจากพื้น โดยมีการสร้างศาลารายทั้งด้านซ้ายและขวาของพระวิหาร
ทอดยาวล้อมรอบองค์เจดีย์เอาไว้
หน้าบันพระวิหาร
เป็นแผ่นไม้ลูกฟักที่สร้างเพื่อปิดช่องว่างที่เกิดจากโครงสร้างหลังคาด้านสกัด สร้างเพื่อเน้นมุมมองไปสู่องค์พระประธานที่อยู่ภายในพระวิหาร หรืออุปมาถึงเรื่องกิเลส ตัณหาอันเปรียบเสมือนการเตรียมพร้อมให้กับบุคคลที่เข้าไปในพระวิหาร ได้ตระหนักและเตรียมตัวเข้าสู่พื้นที่ที่บริสุทธิ์ภายใน โดยแทนลวดลายที่อยู่บนหน้าบันนั้นเป็นเสมือนกิเลสตัณหาของมนุษย์ที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลานั่นเอง แนวคิดดังกล่าวมักถูกย้ำด้วยการสร้างเสาคู่หน้าสุด จะเป็นเหลี่ยมเปรียบเสมือนจิตใจของผู้คนที่หยาบกระด้างดั่งกิเลสตัณหาของมนุษย์ที่ยังไม่ได้ขัดเกลา และเมื่อเข้าไป สู่ภายในวิหาร เสาคู่ต่างๆ ภายในจะกลายเป็นรูปทรงกลม อันเปรียบเสมือนจิตใจที่บริสุทธิ์ของผู้ที่เข้าสู่ภายในวิหารซึ่งเป็นแดนพุทธภูมิหรือ สถานที่ของพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งบรรลุนิพพาน ตัดแล้วซึ่งกิเลสตัณหานั่นเอง โก่งคิ้วหน้าบันพระวิหารจะตกแต่งด้วยลายรดน้ำ ลายกงจักร และดอกพันธ์ุพฤกษา
โก่งคิ้ว หน้าบันทางเข้าวิหาร