แนวทางการปฏิบัติธรรม
การที่เรามี “พระธรรมวินัย” หรือ “คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” แล้วนำมาศึกษา ประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมได้อานิสงส์ตามฐานะของบุญเรา ถ้าเราสร้างบุญสร้างกุศลที่มีพลังมาก ย่อมทำให้เราได้เข้าสู่คุณธรรมขั้นสูงขึ้นไป
การปฏิบัติธรรม ต้องอาศัยสติเป็นเครื่องระลึกรู้อารมณ์กรรมฐาน และอาศัยปัญญาคือสัมปชัญญะเป็นเครื่องกำกับการปฏิบัติไว้ ก็จะเป็นทางที่จะพัฒนาจิตใจของเราให้เจริญขึ้น โดยมีศีลเป็นฐานเบื้องต้น และมีการให้ทานเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เพื่อให้เราได้ดำรงฐานะทางจิต-ทางกายให้ตั้งอยู่ได้ ซึ่งการรักษาศีลและการให้ทานนั้น ผลจะออกมาเป็นรูปธรรมอย่างเห็นได้ชัด หากมีการลงมือปฏิบัติ บำเพ็ญความดีด้วยการเจริญภาวนา ก็เป็นสิ่งเกื้อกูลปัจจัยให้เราเจริญขึ้น ดีงามขึ้น และเห็นผลชัดเจน อุปมาเหมือน พืช ผัก ผลไม้แต่ละชนิดมีสารอาหารจำนวนน้อย และต้องกินจำนวนมากถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย (ซึ่งเปรียบเหมือนการรักษาศีลและการให้ทาน) ดังนั้นจึงมีกระบวนการนำพืช ผัก ผลไม้ต่าง ๆ มาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เช่น การคัด การเลือก การสังเคราะห์ การสกัด เป็นต้น เพื่อนำสารอาหารจากพืช ผัก ผลไม้มาเป็นตัวยา เพื่อให้กินแล้วเพียงพอต่อร่างกาย (เปรียบเหมือนการเจริญภาวนา)
โดยมีแนวทางการปฏิบัติ ๒ แนวทาง คือ
๑. สมถะกรรมฐาน
สมถะ แปลว่า ความสงบจากนิวรณ์ ๕ เกิดจากจิตมีสมาธิ
สมถะกรรมฐาน เป็นการฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ
การฝึกให้จิตมีสมาธิ มี ๓ ระดับ
๑ ) ขฌิกสมาธิ คือ สมาธิชั่วขณะ เป็นสมาธิที่บุคคลทั่วไปสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่กิจการงานในชีวิตประจำวันให้ได้ผลดี เช่น หากเราหยิบหนังสือมาดู เราเพ่งตัวอักษรหนึ่งตัวก็มีสมาธิขณะหนึ่ง หรือเพ่งดูลักษณะของตัวอักษร เห็นตัวอักษรมีลักษณะสูงต่ำ ตัวเบา ตัวหนา เรียกว่าเป็นขฌิกสมาธิตัวหนึ่ง หรือเป็นฌานระดับขฌิกสมาธิ
๒ ) อุปจารสมาธิ คือ สมาธิเฉียด ๆ หรือจวนจะแน่วแน่ เมื่อเกิดขฌิกสมาธิแล้ว โดยอาศัยอารมณ์กรรมฐานภาวนา อาศัยบุคคล และอาศัยสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้จิตใจมีความบากบั่นพากเพียร จนทำให้สงบเพิ่มมากขึ้น
๓ ) อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่แน่วแน่แนบสนิท ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของการเจริญสมาธิ เป็นการเจริญสมาธิในขั้นฌาน คือกำลังของบุญกุศลมีมากขึ้น ทำให้นิวรณ์ธรรมอ่อนกำลังลง หรือเรียกว่า ฌานกุศล
ฌาน แปลว่า เพ่งอารมณ์จนจิตสงบนิ่งเป็นสมาธิ หรือเผากิเลสที่เกิดจากนิวรณ์ ๕ ให้สลายไป
นิวรณ์ ๕ คือ
(๑) กามฉันทะ แปลว่า ความยินดีในกาม ความพอใจในกาม ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบ คือ กามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหตุให้จิตฝักใฝ่ใหลหลงอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น เป็นเครื่องปิดกั้นขัดขวางมิให้บรรลุถึงความดี และปิดกั้นความดีมิให้เข้าถึงจิต ซึ่งเกิดจากศุภนิมิต แต่ถ้าเราจะแก้อารมณ์ที่เป็นกิเลส เราจะต้องหาอารมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกามคุณอารมณ์ ด้วยการเจริญอสุภกรรมฐาน บ่อย ๆ ก็สามารถก้าวข้ามความพอใจยินดีในกามคุณอารมณ์ ที่เราเรียกว่า กามตัณหา หรือกามราคะได้ จึงจะทำให้สมาธิที่เป็นอารมณ์ภาวนาเจริญขึ้นมาได้
อารมณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกามคุณอารมณ์ เช่น
- เพ่งธาตุ คือ เห็นสิ่งต่าง ๆ สักแต่ว่าธาตุ
- เพ่งอสุภะ คือ เห็นแต่ความไม่งาม ในที่นี้หมายถึงซากศพ เพื่อเอาชนะความยึดติดในกาย
- เพ่งปฏิกูล คือ เห็นสภาพเปื่อยเน่า ความเป็นของไม่เที่ยง
แต่ถ้าหากเพ่งสุภะ คือ เห็นแต่ความงาม ก็จะเพิ่มกามฉันทะให้เกิดขึ้น
(๒) พยาบาท คือ ความแค้นเคือง ผูกโกรธ ต้องเพิ่มพรหมวิหาร ๔ หรือพรหมวิหารธรรม คือเพิ่ม
ความเมตตา คือ ความรักใคร่ ความปรารถนาจะให้เขาเป็นสุข
กรุณา คือ ความสงสารเมื่อคนอื่นตกยากมีทุกข์
มุทิตา คือ ความยินดีเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี
อุเบกขา คือ ความเป็นกลางต่อทุกข์สุขของสรรพสัตว์ ไม่เอนเอียงด้วยความชอบหรือไม่ชอบ
(๓ ) ถีนมิทธะ คือ ความหดหู่ ท้อถอย เซื่องซึม ความง่วงเหงาหาวนอน เราต้องเสริมสร้างด้วยความศรัทธาและความเพียรให้มากขึ้น เพื่อให้จิตเรามีสมาธิมากขึ้น
(๔) อุทธัจจะกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน กังวลใจ บางคนเมื่อจิตมีสมาธิดีจะไม่ยินดีในการหลับนอน ยินดีต่อความตื่นตัวในการประพฤติปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจต่าง ๆ ก็ระงับดับไปได้
(๕) วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เมื่อจิตเรามีสติ มีสมาธิมากขึ้นก็จะไม่มีความลังเลสงสัยในการปฏิบัติตามวิธีการเจริญภาวนา จะทำให้เราเข้าถึงสภาวะความมีจิตเป็นหนึ่งเดียว ทำให้จิตใจระงับนิวรณ์ทั้ง ๕ ลงไปได้ ความชอบ ไม่ชอบ ความฟุ้ง สงสัยก็ระงับดับไปได้ นี่เรียกว่าได้ระดับปฐมฌาน
๒ . วิปัสสนากรรมฐาน
เมื่อเรามีสมาธิ เราก็เอาสมาธิเป็นฐานให้เกิดปัญญาโดยการเจริญวิปัสสนาปัญญา
วิปัสสนา แปลว่า ปัญญาเห็นแจ้ง
วิปัสสนา ต้องอาศัยความเพียร (วิริยะ) สมาธิ และสติสัมปชัญญะ (ปัญญา) และปฏิบัติด้วยความตั้งใจแน่วแน่บนฐานของศีล เมื่อเรามีสมาธิที่สูงขึ้น เราก็เอากำลังของสมาธิที่สูงขึ้นนั้นมาพิจารณาตามความเป็นจริงของกาย-ใจ หรือรูป-นาม ว่าที่เป็นชาย-หญิงนั้นเป็นเพียงแค่รูปธรรมที่เกิดขึ้นโดยมีอารมณ์รู้ (คือใจ) และตัวถูกรู้ (คือกาย) ทำให้จิตใจสงบมากขึ้น เข้าใจสัจธรรมมากขึ้น และเข้าถึงการละความวิปลาส ๓ อย่าง คือ จำผิด เห็นผิด และรู้ผิดได้ มันก็จะทำให้เราเข้าถึงอนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปได้ชัดเจนขึ้น และสามารถเข้าถึงซึ่งการพัฒนาปัญญาญาณให้เจริญขึ้นมาได้ ดังแสดงไว้ใน ญาณ ๑๖ ที่เริ่มจากปริจเฉทญาณ คือ ปัญญาที่รู้จักรูป รู้จักนาม แยกรูป แยกนามได้ดี ทำให้เราละความเห็นผิดเกี่ยวกับตัวตน ความมีตัวตน ที่เรียกว่า สักกายะทิฐิ ด้วยอำนาจของการพิจารณาออกไปได้ ดังที่เรากำหนดอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยตัวสติว่า พองหนอ-ยุบหนอ เป็นต้น โดยรู้ถึงความเกิด-ดับ การผันแปร การแปรปรวน ทำให้เกิดปัญญาในลักษณะ ๓ อย่าง ดังนี้
๑ ) สุตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง หรือจากการเล่าเรียนอ่านมา
๒ ) จินตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิด พิจารณา ไตร่ตรอง และเราเข้าใจในสิ่งเหล่านั้น
๓ ) ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการเจริญภาวนา คือ การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เรารู้แจ้งถึงสัจธรรม หรือรู้แจ้งความเป็นจริงของชีวิตทั้งหลายได้อย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งจะเป็นบุญกุศลแก่เราได้
รูป เป็นกาย เป็นธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ไม่ได้ เปรียบเหมือนคนตาย มีแต่กายไม่มีจิตใจ หรือคนนอนหลับ มีแต่กาย มีจิตที่เข้าภวังค์ จิตที่ไม่รู้อารมณ์
นาม เป็นจิต เป็นธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีการเกิด-ดับเป็นธรรมดา
หากเราพิจารณารูป-นาม หรือกาย-ใจ หรือที่เราเรียกว่าเจริญภาวนาบ่อย ๆ จะทำให้เราพัฒนาตัวปัญญาให้เกิดขึ้นตามฐานะ ด้วยความศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติ ด้วยความเพียรก็จะละกิเลส-อกุศลได้มากขึ้น และก็จะเป็นคุณแก่เราสืบต่อไป
องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า ตราบใดที่อริยมรรคมีองค์แปดมีอยู่ในสมณะหรือนักบวชใด สมณะหรือนักบวชนั้นก็ย่อมมีสมณะที่ ๑, ๒, ๓, ๔, ได้แก่ ความเป็นพระอริยะ โสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ย่อมมีได้ ถ้าพุทธบริษัทปฏิบัติโดยชอบในพระธรรมวินัยนี้ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เหมือนกับพวกเราทั้งหลายที่ได้มาปฏิบัติธรรม มาปฏิบัติโดยชอบ ปฏิบัติด้วยความใส่ใจอดทนด้วยความเพียร ยินดีในการยืน เดิน นั่ง นอนอย่างมีสติสัมปชัญญะ เห็นโทษของกิเลสอกุศลแล้วไซร้ โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอริยะ พระอริยะก็จะเกิดขึ้นกับผู้มีศีลต่อไปยั่งยืนยาว แม้ว่าสังคมปัจจุบันจะเป็นสังคมที่มีกระแสแห่งโลกของวัตถุอย่างรุนแรงก็ตาม
.............................................
สรรพธรรม ๑๕ ผู้แต่ง :พระภาวนาธรรมาภิรัช วิ.
(สุพันธ์ อาจิณฺณสีโล)
ที่ระลึกเนื่องในงานเจริญอายุครบ ๖๔ ปี (๔๓ พรรษา)
พระภาวนาธรรมาภิรัช วิ.
เจ้าอาวาสวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม)
เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงใหม่
๒๓ มกราคม ๒๕๖๘
Comments