top of page

กามภูมิ คือภูมิระดับล่างเป็นภูมิที่ยังหลงมัวเมาอยู่ในกามกิเลส

วัดร่ำเปิง(ตโปทาราม)

รูปภาพนักเขียนวัดร่ำเปิง Wat Ram Poeng

กามภูมิ คือภูมิระดับล่างเป็นภูมิที่ยังหลงมัวเมาอยู่ในกามกิเลส

กามภูมิ คือภูมิระดับล่างเป็นภูมิที่ยังหลงมัวเมาอยู่ในกามกิเลส





ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ เราเรียกฐานภูมิของเราว่าเป็น “กามภูมิ” คือภูมิระดับล่าง เป็นภูมิที่ยังหลงมัวเมาอยู่ในกามกิเลส คือ โลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ) และโมหะ (ความหลง)

๑. อบายภูมิ หรือ ทุคติภูมิ ๔ เป็นภูมิของความชั่วร้ายต่าง ๆ แบ่งเป็น


(๑) นรกภูมิ เป็นภูมิชั้นต่ำสุดในอบายภูมิ ประกอบด้วยอกุศลจิตที่มีสาเหตุมาจากความโลภ ความโกรธ ความหลง และเป็นดินแดนหนึ่งที่เชื่อกันว่าผู้ที่ทำบาปตอนยังเป็นมนุษย์เมื่อเสียชีวิตแล้วจะต้องไปเกิดในนรก

และเสวยวิวากตามกรรมตนเอง


(๒) เดรัจฉานภูมิ เป็นภูมิที่ขวางต่อมรรคผล คือหมดโอกาสที่จะทำทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาให้ถึงพระนิพพานได้ มีชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยชีวิตผู้อื่นตลอดชีวิต มุ่งหมายสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์ที่มีเท้าและไม่มีเท้า มีขาหรือไม่มีขา เวลาเดินจะคว่ำตัวลง เช่น สุนัข ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น เป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณ หรือสัญญา ๓ คือ

๑ ) กามสัญญา คือ รู้จักเสวยกามคุณ หรือสัญญาที่เกาะเกี่ยวในกามคุณ ๕

๒ ) โคจรสัญญา คือ รู้จักกินนอน หรือแสวงหาอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้อง

๓ ) มรณสัญญา คือ รู้จักกลัวตาย

(๓) เปรตภูมิ เป็นภูมิของเปรตผู้ที่มีความโลภ ความอยาก ไม่มีคำว่าอิ่ม ทำบาปและมีเจตนาที่ไม่เป็นบุญแอบแฝง เช่น การรับของโรงทานด้วยความโลภ หรือด่าว่าครูบาอาจารย์พระสงฆ์องค์เณรที่เป็นผู้มีศีล เป็นต้น เป็นสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารหรือส่วนบุญที่ญาติมิตรจากโลกมนุษย์อุทิศให้ด้วยการอนุโมทนา อาจพ้นจากความอดอยาก หรือพ้นจากสภาพของเปรตไปเป็นเทวดาได้

(๔) อสุรกาย เป็นภูมิของสัตว์ที่มีความทุกข์ ไม่สามารถรับส่วนกุศลที่มีผู้อุทิศไปให้ได้ ต้องทนทุกข์อยู่อย่างนั้นจนกว่าจะสิ้นกรรม


๒. สุคติภูมิ ๗ เป็นภูมิชั้นสูงขึ้นมาที่มีความเป็นอยู่ด้วยความสนุกเพลิดเพลินอยู่ในกามคุณอารมณ์ และเป็นดินแดนอันเป็นที่อยู่ของสัตว์โลกผู้ทำกรรมดี ได้แก่ มนุษยภูมิ เทวภูมิ เป็นภูมิที่มีความสุขสบาย ตามสภาพของภูมินั้น ๆ ด้วยอำนาจของกุศลที่ทำไว้ มากน้อยแตกต่างกันไปแบ่งออกเป็น

(๑) กามสุคติภูมิ ภูมิที่มีความเป็นอยู่ด้วยความสนุกเพลิดเพลินอยู่ในกามคุณอารมณ์ ล้วนแต่สวยงาม เป็นที่ต้องตาต้องใจทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทวภูมิ ซึ่งเป็นดินแดนที่ไปเสวยผลบุญที่ตนเองได้กระทำไว้ ทุกอย่างจะเป็นทิพย์เพียงแต่ตั้งความปรารถนาต้องการสิ่งใด สิ่งนั้น ๆ ก็จะบังเกิดขึ้นมาทันทีด้วยอำนาจของบุญ โดยหลักธรรมแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นกิเลสตัณหา คือ โลภะ ทั้งสิ้น ที่เรียกว่า กามตัณหา ซึ่งจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนกระวนกระวายใจ หาความสุขความสงบอย่างแท้จริงไม่ได้ แบ่งได้เป็น ๗ ภูมิ คือ มนุษย์ ๑ และ เทวดา ๖ ดังนี้

๑) ภูมิมนุษย์ หรือ มนุษยภูมิ ๑ ชั้น คือ ความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นคน เป็นภูมิระดับสูงกว่าอบายภูมิ กำหนดด้วยสภาพอำนาจของจิต มีความคิด มีความยึดมั่นในอารมณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้สัตว์โลกเป็นไปต่าง ๆ นานา

การที่บ่งบอกว่าเราเป็นมนุษย์มีคุณธรรม หรือเรียกว่า มนุษยธรรม คือ ธรรมที่สื่อให้เราเป็นมนุษย์ที่มีพื้นฐานจิตดี มีความยินดีในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วยให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ บำเพ็ญภาวนา เอื้อเฟื้อเกื้อกูลสัตว์โลกในฐานะเป็นเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน ทำให้เป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง ขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง ชำระล้างอาสวะกิเลสได้มากขึ้น มนุษย์ก็จะเปลี่ยนสถานะจากปุถุชนเป็นมนุษย์ที่มีภูมิธรรมสูง เป็นอริยะเจ้า เป็นพระโสดาบันบุคคล สกทาคามีบุคคล อนาคามีบุคคล จนถึงพระพุทธเจ้า ทำให้มนุษย์มีจิตอันประเสริฐขึ้นที่เราเรียกว่า เป็นพระอริยะ

๒) ภูมิของเทวดา เป็นภูมิเหล่าของเทพยดา ๖ ชั้น ที่เรียกว่า ฉกามาพจรภูมิ มี

ชั้นที่ ๑ จาตุมหาราชิกาภูมิ เป็นภูมิของเหล่าเทพ ที่อยู่ต่อจากมนุษยภูมิขึ้นไป มีท้าวจาตุมหาราช เป็นใหญ่

ชั้นที่ ๒ ตาวติงสาภูมิ (ดาวดึงส์ - ไตรตรึงษ์) เป็นภูมิที่เป็นที่เกิดของบุคคลเหล่าเทพ ๓๓ องค์ ที่ได้สร้างกุศลไว้ในอดีต มีพระอินทร์ หรือท้าวสักกะ เป็นใหญ่ ซึ่งเป็นเทวโลกที่มีความเกี่ยวพันกับ พระพุทธศาสนาอยู่มาก โดยเฉพาะพระอินทร์ หรือท้าวสักกะเทวราชซึ่งได้เกื้อหนุนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชาติสุดท้าย ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระเวสสันดร และยังได้ตักบาตรแก่ พระมหากัสสปเถระที่ออกจากนิโรธสมาบัติด้วย

ชั้นที่ ๓ ยามาภูมิ เป็นชั้นที่สวยงามและประณีตกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นภูมิที่เป็นที่อยู่ของเหล่าทวยเทพผู้มีบุญมาก ไม่หวังสิ่งตอบแทนและไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งการให้ทาน พรั่งพร้อมด้วยความสุขอันเป็นทิพย์ ปราศจากความยากลำบากใด ๆ หรือที่เรียกว่า ท้าวสุยามะ หรือยามะ เป็นใหญ่

ชั้นที่ ๔ ดุสิตาภูมิ (ดุสิต) เป็นสวรรค์ที่ปราศจากความร้อนใจ มีความยินดีในทิพยสมบัติของตนอยู่เป็นนิตย์ เป็นภูมิที่มีเหล่าเทพที่เป็นผู้มีบุญมากมาเกิด หรือเป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายก่อนที่จะไปบังเกิดในมนุษยโลก และบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังเป็นที่เกิดของผู้ที่จะเป็นอัครสาวกก่อนที่จะไปบังเกิดในมนุษยโลกอีกด้วยมีท้าวสันดุสิตเป็นใหญ่

ชั้นที่ ๕ นิมมานรดีภูมิ เป็นภูมิของเหล่าเทพที่มีผู้มีความยินดี เพลิดเพลินในกามคุณทั้ง ๕ ที่ตนเนรมิตขึ้นมาตามความพอใจของตนเอง แม้แต่ปรารถนาใคร่เสพในกามคุณก็จะเนรมิตเทพบุตรเทพธิดาขึ้นมาตามที่ใจปรารถนา เมื่อได้เพลิดเพลินกับการเสพกามคุณสมใจแล้วเทพบุตรเทพธิดาที่เนรมิตมาก็จะอันตรธานหายไป จะเห็นว่าเป็นการใช้บุญเก่าที่สะสมมา และพร้อมที่จะสะสมกิเลสใหม่ไปด้วย เมื่อพ้นจากเทวภูมิแล้วอาจไปเกิดในอบายภูมิได้ มีท้าวสุนิมมิตเป็นใหญ่

ชั้นที่ ๖ ปรนิมมิตวสวัตดีภูมิ เป็นภูมิของเหล่าเทพยดาที่เป็นสุคติ มีความสุข ความสำราญ เพลิดเพลินในกามคุณทั้ง ๖ เป็นสวรรค์ที่มีอายุทิพย์ วรรณะทิพย์ ยศทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ เป็นต้น เมื่อปรารถนาเสวยกามคุณ เทวดาองค์อื่นจะคอยปรนนิบัติโดยเนรมิตให้ตามความต้องการ มีท้าววสวัตดีเทวราชเป็นใหญ่และปกครองถึงสวรรค์ชั้นต่ำลงอีก ๕ ชั้นด้วย คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ด้วย




พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) ได้แสดงธรรม ๗ สายไว้ว่า

๑. ผู้ที่มีมิจฉาทิฐิ มีโทสะจิต (คือมีความโกรธ) เมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรก

๒. ผู้ที่มีโลภะ (คือ มีความโลภ มีความไม่อิ่ม) เมื่อตายไปแล้วเป็นอบาย เป็นเปรตอสูรกาย

๓. ผู้ที่มีโมหะ (คือ มีความหลง มีความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และมีความหลงเป็นเจ้าเรือน) เมื่อตายไปก็จะเป็นสัตว์เดรัจฉาน

๔. ผู้ที่รักษาศีล ๕ นึกถึงศีล ๕ ของตนที่รักษา เมื่อตายไปก็จะเกิดเป็นมนุษย์

๕. ผู้ที่รักษากุศลบถ ๑๐ คือ ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล เป็นกายกรรม ๓ (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) วจีกรรม ๔ (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ มโนกรรม ๓ (ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้าย เห็นชอบตามคลองธรรม หรือสัมมาทิฐิ) เมื่อตายไปก็เกิดเทพเทวดา

๖. ผู้มีสมาธิจิตที่ดี เมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก เรียกว่า เทพ พรหม

๗. ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีฐานจิตที่จะได้บรรลุนิพพาน หรือทางที่จะไปสู่นิพพาน


เราปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยการเจริญสติ สมาธิ ภาวนา เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นต้น เพื่อให้เกิดปัญญาอย่างถูกต้อง (คือ ไม่ให้จิตเราเปลี่ยนไปตามสภาพอารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจด้วยความเพลิดเพลินยินดี น่าพอใจ เช่น พอใจในสีสัน วรรณะของสัตว์เดรัจฉาน เช่น แมว สุนัข เป็นต้น ดั่งเราได้ฐานะสภาวะนั้น มีจริตของเดรัจฉานนั้น และจะเป็นอุปนิสัยให้เกิดมาเป็นเดรัจฉานนั้น เป็นต้น) ถือเป็นการสร้างฐานจิต สร้างบุญกุศล เราก็มุ่งไปสู่ทางที่ก่อให้เกิดความดับทุกข์เพื่อสู่พระนิพพาน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบารมี และอินทรีย์ที่แก่กล้า ถ้าเรายังไม่ถึงซึ่งการดับทุกข์ ก็จะเป็นการสร้างอุปนิสัยข้อประพฤติปฏิบัติที่ดีให้กับตัวเอง ก็จะเป็นพลังบุญเกื้อกูลให้เราเจริญงอกงามในสัมมาปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป



 

: หนังสือสรรพธรรม 15 พระภาวนาธรรมาภิรัช วิ.

ดู 2 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page